คุณคาสุโนริ อาโอกิ ผู้บริหารโรงเรียนรามบริรักษ์เชียงใหม่
- KENICHI ENOKIZONO
- 2016年8月30日
- 読了時間: 1分

เรื่องราวของสังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นในบ้านเรา แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่นหลายปีแล้วครับ เนื่องจากผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นจากความเจริญทางด้านการแพทย์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความจำเป็นที่จะต้องมีคนดูแลผู้สูงอายุเหล่านั้น สิ่งนี้เองที่ทำให้คุณอาโอกิ หนึ่งในผู้บริหารของโรงพยาบาลอิตาบาชิ เครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสถาบันสำหรับดูแลผู้สูงอายุ โดยคุณอาโอกิมีแนวคิดว่า การพัฒนาบุคลากรคือสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ เขาจึงจับมือกับบริษัทยินดี จำกัด ในการเข้าซื้อกิจการโรงเรียนรามบริรักษ์เชียงใหม่ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ไม่เฉพาะผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาพักแบบลองสเตย์และช็อตสเตย์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงผู้สูงอายุในสังคมไทยในอนาคตด้วย แนวคิดที่กว้างไกลนี้เป็นมาอย่างไร อยากให้ลองติดตามอ่านกันดูครับ
ทำไมถึงสนใจประเทศไทยและรามบริรักษ์เชียงใหม่

"สิ่งที่แตกต่างสำหรับที่ญี่ปุ่นเกี่ยวกับการประกันสุขภาพก็คือไม่ว่าจะมีเงิน หรือมากหรือน้อย ก็ได้รับบริการแบบเดียวกัน"
เริ่มต้น เราพูดถึงเรื่องของการที่เครือธุรกิจโรงพยาบาลใหญ่ของญี่ปุ่นให้ความสนใจกับประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ คุณอาโอกิกล่าวว่า เขาคิดว่าคนไทยนั้นมีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักเด็ก และให้ความสำคัญกับคนชรา ดังนั้นด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่า ผู้ช่วยพยาบาลที่เป็นคนไทยจะให้การดูแลเด็กหรือคนชราได้เป็นอย่างดี ส่วนที่คุณอาโอกิเลือกจังหวัดเชียงใหม่นั้น เพราะมีชาวญี่ปุ่นเดินทางมาลองสเตย์ และช็อตสเตย์ที่เชียงใหม่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งจังหวัดเชียงใหม่นั้น มีบรรยากาศคล้ายประเทศญี่ปุ่น อยู่แล้วรู้สึกสบายใจ โดยนอกจากโรงเรียนรามบริรักษ์เชียงใหม่แล้ว เขายังมีแนวคิดในการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวไทยที่จังหวัดเชียงใหม่นี้ด้วย
อาหารและบรรยากาศที่ประเทศไทยเป็นอย่างไร
คุณอาโอกินั้นเกิดและเติบโตที่จังหวัดอิบารากิ ซึ่งไม่ได้เป็นเมืองใหญ่ มีความเจริญอยู่บ้างแต่ก็มีส่วนที่เป็นธรรมชาติอยู่มาก จึงรู้สึกว่าเมืองเชียงใหม่นั้นเหมือนจังหวัดอิบารากิ นั่นก็คือมีความเจริญผสมผสานกับธรรมชาติ ส่วนอาหารการกินนั้นก็ถูกปากคุณอาโอกิมาก โดยอาหารที่คุณอาโอกิชื่นชอบเป็นพิเศษที่สุดคือข้าวซอย ในระหว่างที่สัมภาษณ์กันนั้น คุณอาโอกิยังสั่งผัดกะเพราหมูมาทาน โดยคุณอาโอกิยังย้ำกับเราอีกว่า “อาหารไทยอร่อยมาก”
มุมมองต่อการสาธารณสุขประเทศไทย

เมื่อเราถามถึงเรื่องนี้ คุณอาโอกิก็แสดงท่าทีที่สนใจมาก เขารู้สึกชื่นชมกับความก้าวหน้าของการสาธารณสุขในบ้านเรา โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี คุณอาโอกิยังบอกอีกว่า ในบางโรงพยาบาลถือว่าทันสมัยกว่าในประเทศญี่ปุ่นด้วยซ้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณอาโอกิมองก็คือปัญหาของความสะดวกสบายในการบริการที่ไม่เท่ากัน บางโรงพยาบาลมีการรักษาพยาบาลที่ดี และการให้บริการที่ดีเหมือนร้านอาหารหรือโรงแรม แต่บางโรงพยาบาลแม้จะรักษาพยาบาลดี กลับมีปัญหาในการให้บริการ เนื่องจากการให้ความสำคัญระหว่างการรักษานอกระบบประกันสุขภาพ และการรักษาในระบบการประกันสุขภาพยังไม่เท่ากันในแต่ละโรงพยาบาล เขาได้ยกตัวอย่างการรักษาพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นว่า ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากหรือน้อย สิ่งที่คุณจะได้รับจากการรักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นจะเหมือนกัน โดยข้อกำหนดคือรัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้ 70% ส่วนประชาชนจะจ่าย 30% ตรงนี้คือความแตกต่างที่ทำให้ระดับการให้บริการของญี่ปุ่นเท่ากัน จะเข้าโรงพยาบาลไหน แพงหรือถูกรัฐก็จ่ายให้ 70% เหมือนกัน
การพัฒนาบุคลากร บริการด้วยใจคือหัวใจของรามบริรักษ์เชียงใหม่

สำหรับเรื่องของการพัฒนาบุคลากรสำหรับโรงเรียนรามบริรักษ์เชียงใหม่ คุณอาโอกิได้กล่าวถึงหลักสูตรว่า หลักสูตรของรามบริรักษ์เชียงใหม่นั้น เดิมทีมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว โดยเน้นการฝึกฝนเหมือนการปฏิบัติจริง มีอุปกรณ์และเครื่องมือพร้อมสำหรับการเรียนการสอนเสมือนทำงานในโรงพยาบาล แต่ที่มากกว่านั้นคือการฝึกฝนให้มีหัวใจในการบริการที่เรียกว่า เอาท์แสตนดิ้ง ซัพพอร์ท (Outstanding Support) คือใช้ใจดูแล ซึ่งนักเรียนที่จบและผ่านเงื่อนไข จะถูกส่งให้ไปฝึกฝนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยจะได้รับเงินเดือนประมาณ 50,000 - 60,000 บาทต่อเดือน จุดเด่นของการฝึกงานคือการได้รับการรับรองการบริการผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น และได้ฝึกฝนภาษาญี่ปุ่น เมื่อฝึกงานเสร็จและกลับเมืองไทยจะเป็นที่ต้องการของตลาดจากโรงพยาบาลที่มีการให้บริการแก่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น
สิ่งที่อยากฝากถึงคนไทย
คุณอาโอกิเล่าถึงครอบครัวของเขาว่า ตัวเขาเองก็ออกมาทำงานที่ประเทศไทย น้องสาวก็แต่งงานออกจากบ้านไปอยู่ด้วยกันกับสามี สำหรับเขาเองแล้วเขาก็ยอมรับว่าตัวเองก็ไม่ได้อยู่ดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็มองว่าปัจจุบันคนไทยหลายคนก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกับเขา คือต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพ มีพ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งหากไม่ได้มีลูกหลานมากเหมือนครอบครัวสมัยก่อน เมื่อต้องทำงานและพ่อแม่ก็ชราลงไปเรื่อยๆ การที่จะมีสถานที่ให้ผู้สูงอายุได้พักผ่อน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต จึงควรเตรียมตัวให้พร้อม โดยเฉพาะเจเนอเรชั่นคนทำงานในปัจจุบัน ที่อาจจะต้องเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุในฐานะที่ตนเองเป็นผู้สูงอายุเอง สำหรับการอยู่คนเดียวโดยไม่มีบุตรหลานดูแลอาจจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับวัยชราที่กำลังจะเข้ามา บางทีการที่มีผู้ช่วยพยาบาลที่สามารถให้การดูแลได้มาช่วย อาจจะเป็นหนทางเลือกที่ดีทางหนึ่งก็ได้สำหรับอนาคต

อนาคตของประเทศไทยกับสังคมผู้สูงอายุ
คุณอาโอกิมองว่าประเทศไทยกำลังเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเดียวกับประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากอัตราของคู่แต่งงานที่มีบุตรลดลง อัตราการตายลดลง อายุของคู่แต่งงานเพิ่มขึ้น และค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยที่สูงขึ้น รวมถึงการออกจากบ้านเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ส่งผลให้มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ลำพังมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้กำลังนำประเทศไทยไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคุณอาโอกิมองว่าสถานดูแลผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยในอนาคต และตัวเขาเองก็มีเป้าหมายที่จะสร้างสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยด้วย

Opmerkingen