ทานาบาตะ七夕
- KENICHI ENOKIZONO
- 2016年8月3日
- 読了時間: 1分

เข้าสู่เดือนกรกฎาคมกันแล้วที่ประเทศญี่ปุ่นก็ถือได้ว่าเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบและเมื่อพูดถึงฤดูร้อนนอกจากคนญี่ปุ่นจะได้มีโอกาสใส่ชุดยูกาตะออกเดินเที่ยวตามงานวัดหรือออกตระเวนชมเทศกาลงานดอกไม้ไฟที่ยิ่งใหญ่ตามเมืองต่างๆกันแล้ว ในเดือนนี้ยังมีค่ำคืนหนึ่งที่เราจะได้เห็นต้นไผ่ที่ประดับประดาไปด้วยแผ่นกระดาษที่เขียนคำอวยพรต่างๆเอาไว้ รวมไปถึงริ้วกระดาษโมบายขนาดใหญ่ประดับกันเต็มท้องถนนอย่างสวยงามในบางพื้นที่ และในวันนี้เราจะขอพูดถึงเทศกาลที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่นนี้กันกับเทศกาลทานาบาตะเทศกาลแห่งดวงดาว

ตำนานสาวทอผ้ากับชายเลี้ยงวัว
“七夕祭り” เทศกาลทานาบาตะเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปีในประเทศญี่ปุ่นเทศกาลทานาบาตะนั้นมีเค้าโครงมาจากตำนานสาวทอผ้ากับชายเลี้ยงวัว โดยเรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ฝั่งแม่น้ำด้านเหนือของอามาโนะกาว่าหรือก็คือทางช้างเผือก โอริฮิเมะ ผู้เป็นบุตรธิดาของเทพผู้ครองสวรรค์เทนเทย์มีฝีมือในการทอผ้าได้สวยงามและประณีตอย่างมาก บิดาของเธอรวมถึงเหล่าเทพต่างก็ชอบพอกับชุดที่เธอทอให้อย่างมากจึงทำให้เธอต้องคอยทอผ้าอย่างหนักอยู่ทุกวันตลอดวันตลอดคืนจนไม่มีเวลาที่จะได้พบรักกับใครได้เลย ด้วยความเป็นห่วงและสงสารบุตรธิดา เทพผู้เป็นบิดาจึงได้จัดหาชายหนุ่มที่จะให้เป็นคู่ครองแก่บุตรธิดา และได้แนะนำหนุ่มเลี้ยงวัวที่ทำงานอยู่อีกฝั่งของทางช้างเผือกชื่อ ฮิโกโบชิให้ ซึ่งทั้งสองก็ตกหลุมรักกันแต่แรกเห็นจึงได้แต่งงานกัน แต่ภายหลังจากที่แต่งงานไป โอริฮิเมะก็ไม่ยอมทำงานขยันขันแข็งเหมือนแต่ก่อน ในขณะเดียวกันฮิโกโบชิเองก็ปล่อยปะละเลยในหน้าที่ของตนเองปล่อยให้วัวออกเดินเพ่นพ่านไปทั่วท้องสวรรค์ ด้วยเหตุนี้เองเทพผู้เป็นบิดาจึงโกรธและลงโทษให้ทั้งสองคนต้องพลัดพรากจากกันไปอยู่คนละฟากของทางช้างเผือก บุตรธิดาเกิดความเศร้าโศกเสียใจต่อเรื่องนี้อย่างมาก และร่ำไห้อ้อนวอนขอร้องต่อบิดาให้ได้พบกับฮิโกโบชิอีกครั้ง ด้วยความเห็นใจเทนเทย์จึงอนุญาตให้ทั้งสองสามารถมาพบเจอกันได้เพียงปีละครั้งในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปีแต่ถึงกระนั้นในวันที่ได้กลับมาพบเจอกันอีกครั้งในตอนแรก ทั้งสองก็ไม่อาจไปหากันได้เนื่องจากทั้งสองไม่สามารถข้ามแม่น้ำทางช้างเผือกไปได้ทว่าฝูงนกเห็นความโศกเศร้าของทั้งคู่จึงได้ให้สัญญาว่าใช้ตัวเองเป็นสะพานให้ทุกปีแล้วทั้งสองจึงได้มาอยู่เคียงข้างกันวันนี้ในที่สุด อย่างไรก็ตามปีใดที่ฝนเกิดตกขึ้นมา ฝูงนกจะไม่สามารถบินมาเป็นสะพานให้ได้ ทั้งสองจึงต้องรอพบเจอกันใหม่ในปีต่อไป
เทศกาลทานาบาตะในปัจจุบัน
ปัจจุบันคนญี่ปุ่นแต่ละครอบครัวจะเฉลิมฉลองกับเทศกาลนี้โดยการเขียนคำอธิฐานหรือบทกลอนลงบนแผ่นกระดาษหลากสีชิ้นเล็กที่เรียกว่า ทันสะคุ 短冊แขวนประดับไว้บนกิ่งต้นไผ่พร้อมกับเครื่องประดับตกแต่งอื่นๆ ซึ่งภายหลังจบงานเทศกาลต้นไผ่เหล่านี้จะถูกนำไปลอยที่แม่น้ำหรือไม่ก็นำไปเผาในเวลาเที่ยงคืนของวันถัดไปตามความเชื่อในแต่ละท้องที่นอกจากนี้หลายจุดในตัวเมืองของประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้จัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลนี้กันโดยการประดับพู่ริ้วโมบายขนาดใหญ่มากมายนับร้อยนับพันพู่เรียงรายกันในย่านถนนคนเดินหรือตามแหล่งศูนย์การค้าที่สำคัญ บางเมืองอาจมีการจัดการแข่งขันประกวดพู่ริ้วโมบายหรือการแสดงขบวนพาเหรดแต่ที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงมากที่สุดสำหรับงานเทศกาล ทานาบาตะนั้นต้องยกให้เทศกาลเซนไดทานาบาตะที่จัดขึ้นที่เมืองเซนได

เทศกาลทานาบาตะในเมืองเซนได(仙台七夕祭り)
เมืองเซนไดเองเริ่มจัดงานเทศกาลทานาบาตะหลังจากที่เมืองเพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ไม่นานในสมัยเอโดะ ซึ่งตัวงานเทศกาลจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ในทุกปีจนกระทั่งปัจจุบันได้กลายเป็นหนึ่งในสามเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคโทโฮคุ และทุกๆปีจะมีนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆเข้ามาร่วมชมงานเทศกาลมากกว่า 2 ล้านคนด้วยกัน
จุดเด่นที่ทำให้งานเทศกาลทานาบาตะในเมืองเซนไดต่างจากที่อื่นๆนั้น ก่อนอื่นเลยคือช่วงเวลาจัดงานเทศกาลของที่นี่ โดยงานเทศกาลกินเวลายาวนานถึง 3 วันตั้งแต่วันที่ 6 ถึง 8 สิงหาคมแทน ตัวงานมีกิจกรรมต่างๆมากมาย ทั้งขบวนแห่ระบำโอโดริ คอนเสิร์ต โชว์แสดงต่างๆ และมีการบริการรถบัสสำหรับชมบรรยากาศงานเทศกาลรอบเมือง อีกทั้งก่อนวันงานเทศกาลหรือก็คือวันที่ 5 สิงหาคม ก็เป็นวันงานเทศกาลดอกไม้ไฟประจำเมืองเซนไดอีกด้วย งานนี้จึงถือได้ว่าเป็นงานเทศกาลหน้าร้อนที่ใหญ่ที่สุดของเมืองเซนไดเลยก็ว่าได้
สำหรับบรรยากาศในตัวเมืองช่วงงานเทศกาลก็ดูยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะเราจะได้เห็นพู่ริ้วโมบายขนาดใหญ่ที่ร้าน ค้าต่างๆทำขึ้นมานับร้อยชิ้นแขวนเรียงรายบนต้นไผ่ที่สูงมากกว่า 10 เมตร ตั้งอยู่เต็มสองฝั่งข้างทางเดินย่านศูนย์การค้าใจกลางเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านอาโอบะโดริอิจิบังโจว ผู้คนจะถือโอกาสใส่ชุดยูกาตะเดินชมและถ่ายรูปในย่านนี้กันอย่างคึกคัก พร้อมทั้งเพลิดเพลินไปกับของกินต่างๆในย่านนี้ตลอดช่วงเทศกาล
นอกจากตัวพู่ริ้วโมบายจะมีความสวยงามหลากหลายรูปแบบแล้ว ลักษณะเครื่องประดับตกแต่งพู่เหล่านี้ต่างมีความหมายแฝงเอาไว้อีกด้วย ถือเป็นแบบฉบับเฉพาะสำหรับเมืองเซนได
ด้วยตัวงานที่จัดอย่างยิ่งใหญ่และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากท้องที่อื่นๆในญี่ปุ่นนี้เอง นักท่องเที่ยวคนไหนที่ชื่นชอบบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ เทศกาลเซนไดทานาบาตะเป็นงานที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง และเมื่อมาถึงแล้วก็อย่าลืมที่จะลิ้มลองของกินขึ้นชื่ออย่างลิ้นวัวย่างกิวทังและขนมจากถั่วซึนดะกันด้วย
Comments